Limousine-Taxi service by NUCHNAMCHOK

Monday, October 13, 2008

7 ต.ค.วันทรราชพิฆาตประชาชน ทำยอดข่าวสั้น SMS พุ่งกระฉูด


ประเทศไทยต้องจารึกว่า 7 ตุลาทมิฬ วันทรราชฆ่าประชาชน คือวันที่ข่าวSMSหรือข่าวข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือถูกส่งให้ประชาชนชาวไทยมากที่สุด ยอดส่งเพิ่มกระฉูดจากเดิมมากกว่า 2 เท่าตัว ความต้องการรับทราบข้อมูลข่าวสารของมวลชนทำให้โอเปอเรเตอร์บางรายเลิกจำกัดจำนวนSMSข่าวไปโดยปริยาย ในขณะที่การบิดเบือนข่าวสารทำได้ยาก และหากสื่อไหนกล้าทำอนาคตรางเลือน

นายนิรันดร์ เยาวภาว์ เว็บมาสเตอร์ผู้จัดการออนไลน์ กล่าวถึงการให้บริการข้อความข่าวทางโทรศัพท์มือถือของผู้จัดการออนไลน์ว่า เหตุการณ์ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เป็นวันที่การส่งข่าวSMSไปยังประชาชนมีจำนวนสูงสุด โดยข้อความกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นข่าวการเมือง

"เวลามีสถานการณ์ตึงเครียดจำนวนข่าวจะเพิ่มเกินครึ่งหนึ่ง ปกติ โอเปอเรเตอร์อย่างดีแทคและเอไอเอสจะจำกัดข่าว SMS ไว้ที่ 6-8 ข่าวต่อหมวดต่อวัน เหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค.ทำให้มีจำนวนข่าวเพิ่มขึ้นประมาณ 20 ข่าวต่อหมวด เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว และเมื่อเกิดเหตุการณ์ โอเปอเรเตอร์ก็เริ่มไม่จำกัดจำนวนข่าวที่ส่งให้ผู้บริโภค" นายนิรันดร์กล่าว

โอเปอเรเตอร์นั้นต้องจำกัดจำนวนข่าวSMSที่ส่งให้ผู้บริโภคเพื่อควบคุมต้นทุนให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัท การส่งข่าวSMSของผู้จัดการจะส่งโดยแบ่งประเภทเป็นหมวดย่อย ได้แก่ หมวดทั่วไป การเมือง เศรษฐกิจ กีฬา และบันเทิง เป็นต้น หนึ่งข้อความข่าวสามารถนำไปใส่ไว้ในหลายหมวดได้ โดยจำนวนข่าวปกติอยู่ที่ 15 ข่าวต่อหมวดต่อวัน ข่าวบางส่วนเท่านั้นที่จะถูกส่งถึงผู้บริโภค

"ข่าวทางSMSเร็วกว่าข่าวทุกช่องทาง เพราะเป็นข้อความสั้น ขั้นตอนไม่มีอะไรมาก เร็วกว่าข่าวออนไลน์ด้วย เพราะข่าวออนไลน์ยังต้องมีการคิดหัวข้อความ โปรยข่าว เนื้อข่าว และยังมีขั้นตอนของการออกแบบข่าวและการให้เซิร์ฟเวอร์ประมวลผล สำหรับผู้จัดการเรามีนโยบายขึ้นทั้งสองส่วนให้พร้อมกัน ต้นทุนเราตายตัว ข่าวมากหรือน้อยทุนก็ไม่เพิ่มขึ้น" นายนิรันดร์กล่าว

จากการสำรวจผู้ใช้บริการSMSข่าวของสำนักข่าว INN พบว่าข้อความที่ถูกส่งมาในช่วงวันที่ 7 ตุลาคม (เริ่มนับเวลาเที่ยงคืน) มีทั้งสิ้น 39 ข้อความ เป็นข้อความข่าวการเมืองทั้งหมด

ข่าวบนมือถือโตต่อเนื่อง 3 ปีมีผู้ใช้งาน 2 ล้านคนต่อเดือน ไอเอ็นเอ็นคนขายข่าวรับ ยอด SMS พุ่งทุกครั้งที่เกิดเหตุรุนแรง ชี้เหตุสลายการชุมนุมน่าจะดันยอดดูข่าวผ่านมือถือกระฉูดไม่น้อยหน้าการปฏิวัติ ระบุการบิดเบือนข่าวทำได้ยากเพราะผู้บริโภคตัดสินใจรับเนื้อหาได้เอง ด้านเอไอเอสระบุยอดข่าวบนมือถือเป็นรองแค่บริการโหลดเพลง

นายวันชัย ปิณฑะบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจข่าวบนมือถือมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมียอดผู้ใช้งานในตลาดรวมเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 -2 ล้านรายต่อเดือน จากเริ่มต้น 3 ปีที่ผ่านมามีผู้ใช้งานเพียง 1.5 หมื่นรายต่อเดือน

ทั้งนี้ความต้องการบริโภคข่าวบนมือถือ จะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ โดยจะเห็นได้จากเหตุการณ์ปฏิวัติเมื่อวัน 19 ก.ย. 2549 ที่มีปริมาณการดูข่าวบนมือถือเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก สำหรับเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 จะเห็นตัวเลขการบริโภคข่าวบนมือถือในเดือน พ.ย.2551 ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณการใช้งานสูงเช่นเดียวกับเหตุการณ์ปฏิวัติ

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ประชาชนจะมีความต้องการบริโภคข่าวบนมือถือเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติหรือเกิดเหตุรุนแรง ฉะนั้นเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ผ่านมาเชื่อว่าจะมีปริมาณบริโภคข่าวบนมือถือจำนวนมากเหมือนเหตุการณ์ปฏิวัติเมื่อวันที่ 19ก.ย.2549” นายวันชัยกล่าว

อย่างไรก็ดีการบริโภคข่าวบนมือถือส่วนใหญ่ผู้บริโภคยังนิยมดูข่าวสารผ่าน SMS มากกว่าดูผ่าน MMS และวิดีโอสตรีมมิ่ง เนื่องจากผู้บริโภคต้องการบริโภคข่าวอย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์และสรุปประเด็นข่าวหรือหัวข่าวสั้นๆเข้าใจได้ทันที แนวโน้มการเติบโตของ SMS นั้นยังเติบโตได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เนื่องจากผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายเพราะไม่จำเป็นต้องมีโทรศัพท์มือถือราคาแพงเพียงมีคุณสมบัติการใช้งานระดับพื้นฐาน ส่วนผู้รับรู้ข่าวสารบนมือถือส่วนใหญ่ยังเป็นคนในเมืองมากกว่าคนต่างจังหวัด

นายวันชัยกล่าวต่อว่า สำหรับการรับข่าวบนมือถือผ่าน MMS และวืดีโอสตรีมมิ่งอยู่ในระหว่างการไต่ระดับการเจริญเติบโต เนื่องจากบริการดังกล่าวจะต้องอาศัยเครื่องลูกข่ายที่มีความสามารถในการใช้งานสูง และใช้พื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลสูง MMS 1 ข้อความใช้พื้นที่จัดเก็บมากถึง 100 กิโลไบต์ แต่ SMS ใช้พื้นที่เพียง 1 กิโลไบต์ต่อ1 ข้อความ ประกอบกับเทคโนโลยีปัจจุบันยังมีความเร็วไม่เพียงพอรับข้อมูลภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นการรับข่าวผ่าน MMS และวิดีโอสตรีมมิ่ง จะมีปริมาณการเติบโตมากขึ้นเมื่อเทคโนโลยี 3G และมีการใช้งานเครื่องลูกข่ายที่มีประสิทธิภาพสูงในตลาดมากขึ้น

สำหรับกรณีการบิดเบือนข่าวสารในเหตุการณ์ไม่ปกตินั้น มองว่าเรื่องนี้ที่สุดแล้วผู้บริโภคข่าวจะเป็นผู้ตัดสินเลือกรับข่าวสารด้วยตัวเอง ส่วนผู้ที่เสนอข่าวบิดเบือนสุดท้ายก็จะถูกปฏิเสธรับข่าวสารจากผู้บริโภคเอง

นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า บริการข่าวบนมือถือยังสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้สามารถทำรายได้เป็นรองคอนเทนต์เพลงเท่านั้น ปัจจุบันในตลาดรวมมีผู้บริโภคข่าวบนมือถือทั้งหมดมากกว่า 2 ล้านคน ซึ่ง 90% ยังเป็นการรับข่าวผ่าน SMS สำหรับการรับข่าวสารผ่าน MMS และคลิปวิดีโอนั้นมีเพียง 10% เท่านั้น

โดยสาเหตุที่มีความต้องการบริโภคข่าวผ่าน MMS และคลิปวิดีโอ ในปริมาณไม่มากนักเนื่องจากการใช้งานลักษณะดังกล่าวจะต้องอาศัยเครื่องลูกข่ายที่มีความสามารถในการใช้งานสูง ซึ่งมีราคาสูงคนส่วนใหญ่ในประเทศยังเข้าถึงได้น้อย แต่ในอนาคตหากคนสามารถเข้าถึงมือถือคุณภาพสูงได้มากขึ้นเชื่อว่าการใช้งานผ่าน MMS และคลิปวิดีโอ จะเพิ่มขึ้นตาม

ทั้งนี้ สาเหตุที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังนิยมรับข่าวสารผ่าน SMS มากกว่าสื่อรูปแบบอื่นบนมือถือ เป็นเพราะผู้บริโภคต้องการรับรู้ข่าวที่มีความเคลื่อนไหวที่รวดเร็วทันสถานการณ์และสรุปเพียงพาดหัวสั้นๆ ประกอบกับคนส่วนใหญ่ยังใช้เครื่องลูกข่ายที่รองรับการใช้งาน SMS ส่วนข่าวในเชิงลึก หรือรายละเอียดของข่าวนั้นผู้บริโภคข่าวจะหาเพิ่มเติมตามหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์และโทรทัศน์ภายหลัง สำหรับปัจจัยกระตุ้นให้การบริโภคข่าวบนมือถือเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากปัจจุบันผู้ผลิตคอนเทนต์ข่าวทั้ง สื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์หันมาทำข่าวบนมือถือป้อนให้ลูกค้ามากยิ่งขึ้น

สำหรับกรณีการเสนอข่าวบิดเบือนนั้นเชื่อว่าปัจจุบันมีน้อยลง เนื่องจากการเสนอข่าวบิดเบือนทำให้เกิดภาพเชิงลบกับสำนักข่าวนั้นๆ ประกอบกับผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกรับข่าวสารได้ด้วยตัวเอง


โดย ผู้จัดการออนไลน์
9 ตุลาคม 2551 11:00 น.

0 comments: